เบื้องหลังความเร็ว ของสุนัขนักวิ่ง อะไรเป็นสาเหตุของอาการบาดเจ็บ

เบื้องหน้าในสนามแข่งที่มีสุนัขจำนวนหนึ่งวิ่งห้อแข่งกันด้วยความเร็วสูง เป็นภาพที่ดูสง่างามมาก สุนัขแต่ละตัววิ่งเบียดกันเพื่อแย่งกันเข้าเส้นชัยในระยะแข่งขันของสนามที่ยาวไม่เกิน 500 เมตร แต่เบื้องหลังการแข่งขัน มีสุนัขจำนวนไม่น้อยที่เกิดอาการบาดเจ็บ เนื่องจากการแข่งขันอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ๆ จากสถิติ เฉลี่ยแล้วการแข่งขันวิ่งของสุนัข สุนัขจะเข้าร่วมการแข่งขัน 3 ครั้งต่อ 2 สัปดาห์ เป็นความถี่การแข่งที่สูงมากทีเดียว เมื่อการฝึกซ้อมที่ต้องเข้มงวดเพื่อให้การแข่งขันที่บ่อยเช่นนี้ได้ผลการแข่งที่ดีที่สุด จึงเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้

อาการบาดเจ็บของสุนัข ที่เกิดจากการแข่งหรือฝึกซ้อม

อาการกล้ามเนื้ออักเสบ เป็นอาการที่พบได้มากเนื่องจากในการแข่งขันนั้นสนามแข่งขันมีลักษณะเป็นลู่วิ่งรูปวงรี มีความยาวประมาณ 480 เมตร พื้นที่อัดด้วยทรายเปียก ทำให้การออกแรงก้าวขาวิ่งมากขึ้น การแข่งในระยะที่สั้นเช่นนี้ต้องมีการเร่งความเร็วให้ได้ความเร็วสูงสุดในเวลาอันสั้น กล้ามเนื้อที่ไม่มีความยืดหยุ่นหรือวอร์มไม่เพียงพอเป็นเหตุให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อขึ้นได้

กล้ามเนื้อขาซ้ายฉีกขาด เป็นอาการบาดเจ็บของสุนัขที่มักเกิดจากการแข่งวิ่งสุนัขอีกอาการหนึ่ง เนื่องจากสนามที่ใช้แข่งขันนั้นสุนัขจะวิ่งในทิศทางทวนเข็มนาฬิกา การออกแรงของขาทั้งสองข้างในขณะเข้าโค้งจะไม่เท่ากัน ขาซ้ายที่อยู่ด้านในจะรับแรงมากกว่าทำให้มีโอกาสเกิดการฉีกขาดได้ง่าย

กระดูกหัก ก็เป็นอีกอาการที่พบได้บ่อยเนื่องจากในการแข่งขันนั้นสุนัขต้องวิ่งด้วยความเร็วสูงเมื่อวิ่งผิดจังหวะหรือมีการชนกันอาจทำให้ล้ม หรือทับกัน ขาจึงมีโอกาสที่จะถูกกระแทกจนกระดูกขาหักได้

กระดูกสันหลังเคลื่อนหรือกะโหลกศีรษะแตกร้าว เป็นอาการที่พบได้แต่ไม่มากนัก เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุอย่างรุนแรงจากการแข่งขัน วิ่งชนกัน หรือล้มผิดจังหวะกระแทกอย่างรุนแรง จนเป็นเหตุให้กระดูกส่วนสำคัญเสียหาย

เมื่อพบอาการบาดเจ็บ ควรพักฟื้นให้หายดีก่อนฝึกซ้อมเพื่อแข่งขันต่อไป

ความผิดปกติที่เกิดจากการบาดเจ็บเนื่องจากการแข่งขันหรือฝึกซ้อมของสุนัขนั้นสังเกตไม่ยาก เนื่องจากเป็นอาการบาดเจ็บทางร่างกายที่สุนัขมักจะแสดงอาการท่าทางให้สังเกตเห็นได้ เมื่อพบเห็นอาการที่ผิดปกติเช่นเดินผิดปกติ หรือร้องด้วยความเจ็บปวด ควรทำการรักษาทันที เพื่อไม่ให้เกิดอาการเรื้อรัง ที่อาจส่งผลให้เกิดอาการที่รุนแรงต่อในอนาคต ระยะเวลาในการรักษาก็ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับความรุนแรง อาจกินเวลา 1 – 4 เดือนและควรมีการทำกายภาพควบคู่ไปด้วย เมื่อประเมินหลังการรักษาแล้ว พบว่าสุนัขไม่สามารถฝึกซ้อมหนักเพื่อการแข่งขันได้ก็จะทำการปลดเกษียณให้พัก แต่หากยังไหวก็สามารถฝึกซ้อมต่อได้ ควบคู่ไปกับการสังเกตอาการ ซึ่งนอกจากอาการบาดเจ็บที่พบจากการแข่งขันหรือฝึกซ้อมแล้วควรทำการตรวจสุขภาพร่างกายสุนัขเพื่อประเมินสมรรถนะเป็นระยะด้วยทุก 4 – 6 เดือน